มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มอบปริญญาผู้ต้องขัง ชูหลักพุทธศาสตร์ คืนคนดีสู่สังคม

 วันอาทิตย์ ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๒    โดยในคณะผู้สำเร็จการศึกษานั้นมีอดีตผู้ต้องขังที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตามโครงการวิทยบริการสอนพระพุทธศาสนาในเรือนจำด้วย 

โครงการวิทยบริการสอนพระพุทธศาสนาในเรือนจำเป็นโครงการตามแนวพระราชกระแสรับสั่งใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กรมราชทัณฑ์ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่งเสริมการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าใจและน้อมนำหลักธรรมคำสอนไปขัดเกลาจิตใจให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น พระราชกระแสรับสั่งดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า

“…ขอให้ช่วยจัดการเรียนการสอนแบบนี้ต่อ ๆ ไป ถ้าขยายห้องเรียนได้ก็เพิ่มรุ่นใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ขยายไปเรือนจำจังหวัดอื่น ๆ ด้วยยิ่งดี วิธีนี้น่าจะได้ผลดีกว่าเรียนหนังสือเฉย ๆ เพราะอันนี้เป็นแนวบูรณาการ ทำให้เขาเห็นว่า พระพุทธศาสนาช่วยพัฒนาและแก้ไขชีวิตได้จริง ๆ…”        

         พระราชปฏิภาณโกศล, ผศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัย และกรมราชทัณฑ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านพระพุทธศาสนา และการขยายโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ต้องขัง ให้ได้ศึกษาต่อ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ นำหลักธรรมะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และกล่อมเกลาจิตใจผู้ต้องขังเพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคมต่อไป โดยบัณฑิตรุ่นแรกกลุ่มนี้จะเป็นเสมือนผู้เริ่มจุดประกายสังคมให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นว่ากลุ่มนักโทษสามารถกลับตัวเป็นคนดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ รวมถึงจะยังเป็นแบบอย่างให้กับผู้ต้องขังรายอื่นได้มีความหวังและกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้พร้อมที่จะกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติสุขอีกครั้งหลังพ้นโทษ”

        นอกจากนี้ พระสุทธิสารเมธี, ดร.คณบดีคณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  กล่าวว่า  “ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ ๖ ของโลก และอันดับ ๑ ในอาเซียน โดยกว่าร้อยละ ๗๙ ต้องโทษมาจากคดียาเสพติด ทั้งนี้สาเหตุเริ่มต้นมาจากการขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพความเป็นอยู่ในคุกมีความแออัดสูงมาก ปัจจุบันมีนักโทษประมาณ ๓๖๗,๖๙๕ ราย แต่พื้นที่จริงรองรับได้ราว ๑๒๐,๐๐๐ รายเท่านั้น ดังนั้นการลงโทษเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา การให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้นั้นจึงเป็นแนวทางแก้ไขที่ให้ผลดีกว่า ทั้งกับตัวผู้ต้องขังเองและกับสังคม”

        ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าวโดยการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) สาขาวิชาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งนำร่องหลักสูตร ในปี ๒๕๕๗ ที่เรือนจำกลางบางขวางเป็นแห่งแรก โดยในปีนี้ผู้ที่พ้นโทษแล้วได้เข้ารับประทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ส่วนผู้ที่ยังไม่พ้นโทษ ยังรอรับประทานปริญญาบัตรในเรือนจำต่อไป

        ปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานเข้าร่วมโครงการแล้ว ๔ แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำอำเภอแม่สอด ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  โดยเมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ รศ.ดร.บุญร่วม คำเมืองแสน และคณะ ดำเนินการแนะแนวและสำรวจความพร้อมในการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยมี เป้าหมาย ๘๐ แห่ง ที่อยู่ใกล้กับวิทยาเขต วิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดย ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ จำนวน ๖ แห่ง ภาคใต้ จำนวน ๘ แห่ง ภาคอีสาน จำนวน ๓๐ แห่ง กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน ๕๖­­ แห่ง

         นับได้ว่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ “ชูหลักพุทธศาสตร์ คืนคนดีสู่สังคม” อย่างแท้จริง

         เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

        มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นสถาบันการศึกษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา คือ เป็นสถาบันการศึกษาที่ประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับบริบทสังคมสมัยใหม่ เปิดรับทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสทั่วไปเข้าศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และมีวิทยาเขต ๗ วิทยาเขต กับอีก ๓ วิทยาลัย ทั่วประเทศ

        วิสัยทัศน์ :

          ๑. เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ

          ๒. เป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมวลชนที่ผลิตบัณฑิตตามแนวพระพุทธศาสนาและบุคลากรด้านต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ มีศีลธรรมในการดำรงชีวิตแบบพุทธ

          ๓. เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิปัญญาตามแนวพระพุทธศาสนาของโลกที่สามารถชี้นำและยุติความขัดแย้งในสังคมโดยใช้หลักพุทธธรรม

          ๔. เป็นสถาบันที่เน้นทำวิจัยพัฒนาตามกรอบแห่งศีลธรรม ส่งเสริมงานวิจัยเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนาและนำผลการวิจัยไปพัฒนาสังคมและคณะสงฆ์ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

เชิญชม VDO บอกเล่าเรื่องราวของโครงการ